มาตรฐานการเลี้ยงไก่อินทรีย์ เพื่อให้ได้ไข่ไก่ปลอดสารพิษจากธรรมชาติ
ปัจจุบันการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยแทบทั้งหมดเป็นการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรม เลี้ยงจำนวนมากในโรงเรือน เพื่อให้ควบคุมง่ายและได้ผลผลิตมากๆ แต่ไม่ได้ใส่ใจถึงความมีอิสรภาพของแม่ไก่ รวมถึงความปลอดภัยของไข่ไก่สู่ผู้บริโภคมากนัก
จึงมีวิธีการเลี้ยงไก่ไข่ตามธรรมชาติที่เรียกว่า “การเลี้ยงไก่อินทรีย์” ที่ต้องใส่ใจทุกกระบวนการเลี้ยงไปจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไข่ไก่อินทรีย์คืออะไร? แล้วต่างกับไข่ไก่ทั่วไปอย่างไร?
ไข่ไก่อินทรีย์ คือ ไข่ปลอดสารพิษจากแม่ไก่ที่เลี้ยงโดยธรรมชาติ ไม่ขังกรงและไม่ใช้ยาเคมี
ไข่ไก่ทั่วไป คือ ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงในกรง มีการให้ยาเคมีและอาหารสำเร็จรูปตามปกติ
มาตรฐานต่อไปนี้จะอ้างอิง สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. โดยสรุปบางส่วนให้เข้าใจได้ง่าย
การจัดการฟาร์มไก่อินทรีย์
- ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดในการเลี้ยงไก่ รวมถึงยาและฮอร์โมนสังเคราะห์
- อาหารจะต้องมาจากพืชที่ปลูกในระบบอินทรีย์
- ต้องออกแบบฟาร์มให้มีสภาพแวดล้อมที่แม่ไก่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีน้ำ อาหาร พื้นที่ว่าง และแสงตามธรรมชาติ รวมถึงมีการป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย
- ต้องมีทุ่งหญ้าหรือพื้นที่เปิดโล่งให้ไก่ได้ออกกำลัง
- ต้องมีจำนวนแม่ไก่ไม่เกิน 5 ตัว/ตารางเมตร และไม่เกิน 3,000 ตัว/โรงเรือน มีรังไข่อย่างน้อย 1 รัง/แม่ไก่ 8 ตัว
- ต้องมีพื้นที่นอกโรงเรือนไม่น้อยกว่า 1 เท่าของพื้นที่ในโรงเรือน เพื่อให้แม่ไก่ได้ขุ้ยเขี่ยและออกกำลังตามธรรมชาติ
- ไม่อนุญาตให้ใช้กรงตับหรือกักขังแม่ไก่ไว้ตลอดเวลา
- การให้แสงไฟฟ้ารวมกับแสงสว่างตามธรรมชาติ ต้องไม่เกิน 16 ชั่วโมง/วัน
แหล่งที่มาของลูกเจี๊ยบ
- ลูกเจี๊ยบต้องได้รับการดูแลในระบบอินทรีย์ตั้งแต่แรกเกิด แต่อนุโลมให้นำแม่ไก่สาวที่อายุไม่เกิน 18 สัปดาห์ มาเลี้ยงก่อนได้ในช่วงแรก ซึ่งจะต้องมีแผนในการจัดหาลูกเจี๊ยบอินทรีย์เพื่อใช้ในฟาร์มของตนเองด้วย
การขยายพันธุ์ไก่อินทรีย์
- อนุญาตให้ใช้การผสมเทียมได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้การโคลนนิ่ง หรือใช้ฮอร์โมนเพื่อช่วยการตกไข่
การดูแลไก่อินทรีย์
- ไม่อนุญาตให้ปรับแต่งหรือดัดแปลงอวัยวะของแม่ไก่ แต่อาจอนุโลมให้แต่งปากแม่ไก่ด้วยวิธีที่ไม่ทรมานได้
- ไม่อนุญาตให้ตัดปีกของแม่ไก่ได้
อาหารไก่อินทรีย์
- อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ ต้องเป็นอาหารอินทรีย์ ปลูกในระบบอินทรีย์ แต่ถ้าหากในพื้นที่มีไม่เพียงพอ อาจใช้วัตถุดิบอาหารทั่วไปได้ โดยต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 15% ของน้ำหนักอาหารแห้ง
- อนุญาตให้ใช้วิตามิน ธาตุอาหารรอง และอาหารเสริมที่ได้จากธรรมชาติได้ แต่อาจอนุโลมให้ใช้สารสังเคราะห์เฉพาะบางกรณีที่ไม่สามารถหาจากแหล่งธรรมชาติได้เพียงพอ
- อนุญาตให้ใช้ แบคทีเรีย เชื้อรา เอนไซม์ และกากน้ำตาล ผสมอาหารได้
- อนุญาติให้ใช้สารสังเคราะห์ต่อไปนี้ หากเกิดอากาศแปรปรวนผิดธรรมชาติได้ เช่น กรดอะซิติก, ฟอร์มิก ,โพรพิออนิก รวมถึงวิตามินและเกลือแร่
- อาหาร ส่วนผสมอาหาร สารปรุงแต่ง และสารช่วยแปรรูปอาหาร ต้องไม่มาจากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ)
ไม่อนุญาตให้ใช้สารต่อไปนี้ผสมในอาหารได้
- สิ่งขับถ่ายทุกชนิด
- อาหารที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลาย เช่น เฮกเซน หรือเติมสารเคมีลงไป
- กรดอมิโนสังเคราะห์
- ยูเรียและสารประกอบไนโตรเจนสังเคราะห์
- สารสังเคราะห์กระตุ้นการเจริญเติบโต
- สารสังเคราะห์กระตุ้นความอยากอาหาร
- สารกันบูด ยกเว้นกรณีใช้เป็นสารช่วยแปรรูปอาหาร
- สีสังเคราะห์
การดูแลสุขภาพไก่
- ดูแลไก่โดยเน้นที่การป้องกันเป็นหลัก
- เมื่อไก่เกิดอาการป่วย ต้องได้รับการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรทันที แต่ถ้าหากไม่ได้ผล สามารถใช้ยาแผนปัจจุบันตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ได้ ซึ่งจะต้องมีระยะการหยุดให้ยาเพิ่มเป็นสองเท่าของที่ระบุในฉลากกำกับยา และใช้ได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อช่วงอายุของแม่ไก่ หากใช้เกินกว่านี้จะถือว่าไก่ตั้วนั้นพ้นจากความเป็นไก่อินทรีย์ทันที
- ห้ามใช้ยาแผนปัจจุบัน เพื่อการป้องกันโรคหรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของไก่ได้
- หากมีโรคระบาด อนุญาตให้ใช้วัคซีนตามที่หน่วยงานรัฐแนะนำได้ แต่ต้องไม่เป็นวัคซีนที่มาจากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ)
จากความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว หากเราต้องการเลี้ยงไว้กินเองในครัวเรือน ก็ไม่จำเป็นต้องยึดตามกฎระเบียบเนี๊ยบทุกอย่าง บางอย่างทาง มกท. เขาก็อนุโลมให้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
แต่หากต้องการให้ฟาร์มไก่ไข่ของเราได้รับตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ มกท. อย่างเคร่งคัด สามารถกดสมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ที่นี่
หากจะทำเป็นการค้า แต่ยังไม่ต้องการขอตรารับรอง เนื่องจากการขอตรารับรองจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีด้วย ก็จงทำให้ดีที่สุดตามความสามารถที่เรามี ที่สำคัญต้องอย่าลืม ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ลูกค้าหรือผู้บริโภคทุกคน ควรรู้ว่าสิ่งที่กินไปนั้นมีกระบวนการผลิตเป็นมาอย่างไร ใส่สารแต่งเติมหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญนะ ผมอยากเน้นย้ำที่สุด
ครูพี่นุ
ความซื่อสัตย์ คือ องค์ประกอบสำคัญในการเป็นเกษตรกรผู้ผลิตอาหารอินทรีย์อย่างเต็มตัว
เขียนบทความโดย ครูพี่นุ (ภานุพงศ์ สะและหมัด)
- ปราชญ์ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง จ.ฉะเชิงเทรา
- เจ้าของสวน COCONUT Thailand
- เจ้าของฟาร์ม ข.ไข่ ออร์แกนิค
อยากสอบถามค่ะว่า
ไข่ไก่อินทรีย์ / ไข่ไก่ออร์แกนิค / ไข่ไก่ปลอดสาร มีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหมค่ะ
ปัจจุบันในไทยมีมาตรฐานอะไรไหมคะ ว่า ไข่นี้คือ ไข่ไก่ออร์แกนิค หรือ ไข่ไก่อินทรีย์
ไข่ไก่อินทรีย์กับไข่ไก่ออร์แกนิคคือแบบเดียวกันครับ ในไทยจะมีมาตรฐาน มกท. หรือ ACT ที่ให้ตรารับรองไข่ไก่อินทรีย์ครับ ส่วนไข่ไก่ปลอดสารจะใกล้เคียงกับไข่ไก่อารมณ์ดีแต่ยังไม่ดีที่สุดเท่าไข่ไก่อินทรีย์ ..เหมือนผักปลอดสาร ที่ไม่ได้แปลว่าไม่มีเคมี ปลอดสารเท่ากับฉีดเคมีได้ในปริมาณที่ยอมรับได้ตามกระทรวงเกษตรกำหนด ไม่เหมือนผักอินทรีย์ ที่ไร้สารเคมี 100% เพราะไม่สามารถฉีดเคมีได้ครับ
อ๋ออออ ขอบคุณมากเลยนะคะสำหรับความรู้ ☺️☺️☺️ ชี้แจงเรื่องความแตกต่าง
ยินดีครับผม