ศาสตร์การเลี้ยงดินด้วยการห่มดินของพระราชา
ในหัวข้อนี้ เราจะมาเรียนรู้ศาสตร์พระราชาข้อหนึ่ง ที่จะช่วยปลดล็อคความสำเร็จในการทำเกษตรได้ นั่นก็คือ การเลี้ยงดินด้วยศาสตร์การห่มดิน ของในหลวงรัชกาลที่9
เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยได้ยินคำนี้ “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” แต่เอ๋.. เราเลี้ยงดินได้ด้วยหรือ?? ถ้าเลี้ยงได้ก็แปลว่าดินมันต้องมีชีวิตนะสิ แล้วเราจะเลี้ยงมันอย่างไร ต้องใช้อะไรบ้าง แล้วทำยากไหม คำถามเหล่านี้จะได้รับคำตอบหรือไม่ ก็อยู่ที่ผู้อ่านแล้วแหละครับ .. อิอิ ..
ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ก่อนว่า.. ดินที่ดีนั้นเป็นอย่างไร และสังเกตได้จากอะไรบ้าง
5 ส่วนประกอบของดินที่ดีตามธรรมชาติ
- อินทรีย์วัตถุ 3-5%
- ความชื้น 25%
- อากาศ 25%
- สารอาหาร 45%
- สิ่งมีชีวิตเล็กๆ 1-2%
เราจะมาขยายแต่ละข้อกันเลย
อินทรีย์วัตถุ ก็คือ เศษซากพืช, ซากสัตว์, มูลสัตว์ ที่ย่อยสลายแล้ว
ความชื้น ก็คือ น้ำ ซึ่งน้ำเป็นหัวใจสำคัญของทุกชีวิต แน่นอนว่าถ้าพื้นที่ใดไม่มีน้ำหรือไม่มีความชื้นอยู่เลย ก็จะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดเติบโตอยู่ได้เช่นกัน
อากาศ บางท่านอาจจะสงสัยว่า.. ดินต้องมีอากาศด้วยหรอ? ถ้าเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่ผมเรียนอยู่ประถม ในการทดลองวิทยาศาสตร์ คุณครูให้นำดินมาโรยลงในน้ำและสังเกตการเปลี่ยนแปลง ผมจำได้แม่นเลยว่าพยายามสังเกตหลายอย่างมาก แต่ก็ตอบไม่ถูกสักที สุดท้ายคุณครูก็เฉลยว่า “เราจะเห็นฟองอากาศลอยขึ้นมา” เป็นอะไรที่เห็นได้ชัดเจนมาก นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งที่บ่งบอกว่าในดินก็มีอาอาศอยู่ด้วย
สารอาหาร ต้องบอกก่อนว่า..ดินเป็นเพียงโครงสร้างที่เอาไว้ยึดเกาะ แต่ไม่ได้ทำให้ต้นไม้โต สิ่งที่จะทำให้ต้นไม้โตได้นั้นก็คือ สารอาหาร ซึ่งมันก็มาจาก อินทรีย์วัตถุ, ปุ๋ย และจุลินทรีย์ ตัวอย่างเช่น การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ต้นผักจะลอยอยู่ในน้ำโดยใช้โครงสร้างพลาสติกในการยึดเกาะและเติบโตด้วยสารอาหารจากปุ๋ยที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยที่ไม่ต้องใช้ดินแม้แต่น้อย
สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ก็อย่างเช่น จุลินทรีย์, เชื้อรา, ไส้เดือน, แมงมุม และมด สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะคอยเกื้อกูลผลประโยชน์ให้กับพืช
เช่น
- ไส้เดือน ช่วยย่อยเศษขยะให้กลายเป็ยปุ๋ย รวมถึงพรวนดินให้มีความร่วนทรุยด้วย
- แมงมุง คอยดักจับแมลง, หนอน และเพลี้ยอ่อน ที่จะเข้ามาทำลายพืช
- จุลินทรีย์ ช่วยย่อยมูลสัตว์ให้กลายเป็นอาหารพืช
ถ้าดินของเรามีครบทั้ง5อย่างนี้ นั่นก็แปลว่าดินของเราเป็นดินที่ดีและมีชีวิตแล้ว แต่ถ้ายังไม่ครบละ! เราก็มาเริ่มเลี้ยงดินกันเถอะ
“การเลี้ยงดินด้วยการห่มดิน เป็นการสร้างระบบนิเวศให้ฟื้นกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง”
วิดีโอสอนการห่มดิน
วิธีการเลี้ยงดิน ด้วยศาสตร์ “การห่มดิน”
ขั้นตอนแรก การปรุงอาหารเลี้ยงดิน โดยการนำมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมัก มาโรยรอบๆบริวณทรงพุ่มใต้ต้นไม้ เพื่อเป็นประโยชน์ดังต่อไนี้
- กระตุ้นให้จุลินทรีย์สร้างอาหารสำหรับพืช
- ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดี ร่วนทรุยขึ้น
- ช่วยดูดซับธาตุอาหารไว้ให้แก่พืช **อธิบายเสริมนะครับ ปกติแล้วเวลาที่เราใส่ปุ๋ย ต้นพืชจะไม่ได้นำปุ๋ยนั้นไปใช้ได้ทั้งหมด ปุ๋ยบางอย่างพืชดูดไปได้ช้า อาจถูกการชะล้างจากน้ำฝนหรือน้ำที่เรารดไปก่อนได้
- ช่วยปรับค่า กรด-ด่าง ของดินให้เหมาะสมกับการเติบโตของพืช
- ช่วยกำจัดและต่อต้านเชื้อโรคในดิน
- ทำให้พืชต้านทานโรคและแมลงได้ดี
ขั้นตอนที่2 การห่มดิน ในขั้นตอนนี้เราจะนำศาสตร์การห่มดินของพระราชา ในหลวงรัชกาลที่9 มาปรับใช้ โดยการนำฟางข้าวหรือเศษพืชที่หาได้ง่าย เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ หญ้าแห้ง วัชพืชต่างๆ มาคลุมให้ทั่วบริเวณทรงพุ่มที่เราได้โรยมูลสัตว์ไว้แล้ว ความหนา1ฝ่ามือและห่างจากโคนต้นประมาณ1คืบ เพื่อรักษาความชื้นและความร้อนหน้าดิน ทำให้สิ่งมีชีวิตเล็กๆในดินเกิดการขยายตัวมากขึ้น
ขั้นตอนที่3 ให้เราคอยรักษาความชื้นภายใต้ฟางเอาไว้ โดยการรดน้ำตามปกติ เพื่อเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตเล็กๆในบริเวณนั้นให้มีมากๆ และเสริมด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ เช่น จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ที่ทำได้ง่ายในเวลา1เดือน เพื่อให้จุลินทรีย์ทำการย่อยอาหารบริเวณนั้นออกมาให้กับพืช
การเช็คความสมบูรณ์จากรากพืช
การห่มดิน จะทำให้รากพืชบางส่วนงอกขึ้นมาหาอาหารบนดิน ซึ่งรากพืชนั้นสามารถบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของต้นพืชได้ โดยการเปิดหน้าดินเล็กน้อยแล้วสังเกตที่ปลายราก ถ้าปลายรากยาวอวบสดใสมีจำนวนมากแสดงว่าต้นสมบูรณ์ดี แต่ถ้าปลายรากเรียวเล็กก็แสดงว่าความสมบูรณ์ยังน้อย
ประโยชน์ของฟางข้าว
- เป็นอาณาจักรของสัตว์ ที่เป็นมิตรกับต้นพืช
- ปรับโครงสร้างของดินให้เกิดความสมดุล
- ลดการระบาดของแมลงศัตรูพืช
- เพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน
- ช่วยรักษาความชื้นหน้าดิน
มีคำกล่าวหนึ่งว่า
“ฟางข้าวเปรียบเสมือนรถมือหนึ่ง ส่วนมูลวัวมูลควายเปรียบเสมือนรถมือสอง”
วัว-ควาย พวกมันกินหญ้ากินฟางไปบำรุงร่างกาย ส่วนที่เหลือก็ขับถ่ายออกมา ประโยชน์จึงเหลืออยู่น้อยเมื่อเทียบกับฟางที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้งานเลย
ดังคำกล่าวอีกคำหนึ่งว่า
“ต้องใช้มูลวัวมูลควาย10ส่วน จึงจะเทียบเท่าฟาง1ส่วน”
ถ้าหากเรานำฟางข้าวมาใช้ 130 กิโลกรัม เมื่อมันย่อยสลายแล้ว เราจะได้สารอาหารโดยประมาณดังนี้
- N ไนโตรเจน 8ขีด
- P ฟอสฟอรัส 1ขีด
- K โพแทสเซียม 2กิโลกรัม
- SiO2 ซิลิกา 13กิโลกรัม
เราจะสังเกตเห็นได้ว่าฟางข้าวนั้นมีธาตุสิลิกาอยู่มากทีเดียว ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแรงและความทนทานต่อโรคแมลงให้กับต้นพืชได้อย่างดี
เขียนบทความโดย : ครูพี่นุ (ภานุพงศ์ สะและหมัด)
หากคุณชอบบทความนี้ อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อนๆที่ด้านล่าง เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไปนะครับ
ความเห็นล่าสุด